รีวิว : ปลาที่ว่ายในสนามฟุตบอล

ถ้ามีใครถามเราว่า หนังสือ ปลาที่ว่ายในสนามฟุตบอล นั้นเกี่ยวกับอะไร เราคงบอกว่ามันเกี่ยวกับคนและโลกถ้าคำตอบนั่นกว้างเกินไป มันเกี่ยวกับทุกอย่างรอบๆ ตัวเรา ความเชื่อ วิทยาศาสตร์ ปรัชญา สังคม และชีวิต เกี่ยวกับการที่คนเราอยู่ในโลกและมองโลกใบนี้ หนังสือเล่มนี้พูดถึงเรื่องต่างๆ ครอบจักรวาล ตั้งแต่โลกและจักรวาล มนุษย์ต่างดาว ความรัก พรหมลิขิต ชาติ ศาสนา ปรัชญา ไสยศาสตร์ โหราศาสตร์ พลังจิต ฮวงจุ้ย ศิลปะ ไปจนถึง conspiracy theoryแต่คอนเซปต์ของเรื่องนี้คือการมองโลกโดยใช้ปัญญาหนังสือชื่อแปลกเล่มนี้เขียนในสไตล์แปลก เราไม่รู้ว่าควรจัดเข้าหมวดไหน มันเป็นหนังสือกึ่งเรื่องแต่ง กึ่งคุย กึ่งบทความ กราฟฟิครูปเล่มสวยมากๆ (ถ้าหนังสือทุกเล่มในไทยจัดหน้าได้ประมาณนี้ เราคงอภิมหาแฮปปี้) การจัดหน้า ภาพประกอบจำนวนมากที่เอามาเล่นเป็นชาร์ตบ้าง อะไรบ้าง ทำให้การเข้าใจเรื่องราวเป็นไปโดยง่าย ทั้งที่เนื้อหาควรจะเข้าใจยากปลาที่ว่ายในสนามฟุตบอล เป็นหนังสือที่ให้ข้อมูลในประเด็นมากมาย และไม่ใช่ว่าไม่มี 'ระหว่างบรรทัด' ที่บอกว่าคนเขียนคิดอย่างไรกับประเด็นที่ถูกพูดถึง (รวมถึงชี้นำคนอ่านให้คิดตาม) ในบางประเด็น ระหว่างบรรทัดชัดเสียจนจะกระเด็นขึ้นมาบนบรรทัดด้วยซ้ำ ผู้เขียนมองว่าคนจำนวนมากติดกับอยู่กับ 'ความเชื่อ' แต่บางเรื่อง...เราว่าคนเขียนก็ติดกับกับ 'ความไม่เชื่อ' ของตัวเองเหมือนกัน ไม่เชื่อจนลืมมองมุมกลับ หรือมองบางสิ่งบางอย่างเป็นองค์รวมเกินไป (เช่นพูดถึงโหราศาสตร์เกือบทุกแขนงในลักษณะเหมา ซึ่งความจริงแต่ละแขนงต่างกันมากๆ) และทำให้เหตุผลที่ยกขึ้นมาโต้อ่อนลง และมีรอยโหว่ที่แย้งได้ว่ามันไม่พอที่จะนำมาตั้งข้อสรุป (ผู้เขียนตั้งแต่ 'ข้อสังเกต' ไม่ใช่ข้อสรุป แต่เหมือนที่บอก เราจะเห็นข้อสรุปอยู่ระหว่างบรรทัด)แต่ (อีกที) ถามว่าหนังสือเรื่องนี้อ่อนด้อยลงไปเพราะเหตุนี้ไหมเราคิดว่ามีบ้าง แต่ไม่มากเพราะคุณค่าของหนังสือไม่ใช่การทำให้คนเชื่อ หรือไม่เชื่อ แต่เป็นการสะกิดให้ทบทวนความเชื่อหรือไม่เชื่อนั้นๆเพราะเป็นหนังสือสไตล์กึ่งคุย มันจึงมีมุมมองของผู้เขียนปะปนอย่างเลี่ยงไม่ได้ เราอาจเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย เชื่อหรือไม่เชื่อสิ่งที่หนังสือบอกมาก็ได้ ตัวเราเองก็ไม่ได้เห็นด้วยกับสิ่งที่ผู้เขียนคิดไปทุกอย่าง แต่เชื่อว่านี่เป็นหนึ่งในหนังสือที่จะเตือนให้เราหันกลับมาถามตัวเองว่า เราเชื่อสารที่ออกมาตามสื่อต่างๆ ง่ายเกินไปหรือเปล่า หรือสำหรับคนที่เชื่อยากจนมองเห็น conspiracy theory ในแทบทุกเรื่อง เราคิดมากเกินไปไหม?เราได้ใช้ 'ปัญญา' ในการคิดพิจารณาอะไรสักอย่าง หรือเราแค่ฟัง และตัดสินใจจะเชื่อในสิ่งที่อยากจะเชื่อ? สิ่งที่เราฝังหัวมา? สิ่งที่เราคิดว่า 'ต้องเป็น'?เราดึงหลักฐานต่างๆ ที่จริงๆ แล้วไม่ใช่หลักฐาน มาหนุนความเชื่อตัวเองหรือไม่?โดยส่วนตัวแล้ว เราคิดว่าโลกนี้มีอะไรบางอย่างที่ยังอยู่เหนือความเข้าใจของเรา เราคิดว่าทุกอย่างไม่ได้อธิบายได้ด้วยวิทยาศาสตร์ (ในปัจจุบัน และอาจตลอดไป) เพราะที่สุดแล้ว วิทยาศาสตร์ก็ยังคงพัฒนาไปเรื่อยๆ และมีอีกมากมายที่โลกแห่งวิทยาการยังค้นไม่พบ และวิทยาศาสตร์ในสายตาเราก็ยังไม่ใช่ 'อาวุธทางปัญญาที่ดีที่สุด' อย่างคนเขียนบอก แต่เราก็เชื่อว่าหลายสิ่งหลายอย่างอธิบายได้ด้วยวิทยาศาสตร์ และคุ้มค่าที่เราจะลองมองมันในมุมนั้น มุมกลับของคำว่า 'ไม่เชื่อแต่อย่าลบหลู่'เราคิดว่าสิ่งต่างๆ ในหนังสือเล่มนี้ เราต้องแยกแยะและเลือกที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อด้วยตัวเราเอง เหมือนที่กาลามสูตรว่าไว้นั่นแหละ อย่าเชื่อจนกว่าจะพิจารณาเห็นด้วยปัญญาแล้วว่าอะไรมีประโยชน์และโทษอย่างไร และถ้าเลือกที่จะไม่เลือกทั้งเชื่อและไม่เชื่อ ก็คงไม่ผิดแต่ไม่สำคัญว่าเราเชื่ออะไรหลังอ่านหนังสือเล่มนี้จบลง สำคัญที่ว่า เมื่อปิดหนังสือเล่มนี้ลง เราเข้าใจในการเลือกที่จะเชื่อ หรือเข้าใจในสิ่งต่างๆ อย่างมีเหตุผล และมีราก เรามองโลกด้วยสายตาที่สว่างและกระจ่างขึ้น...ไม่มากก็น้อยนี่เป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่เราคิดว่าดี และถึงใครไม่อยากซื้อหนังสือเล่มนี้ไปอ่านดู เราก็อยากให้ไปที่ร้าน และหยิบหนังสือเล่มนี้พลิกขึ้นมาอ่านสองหน้าสุดท้ายของเนื้อหา สิ่งที่เรากินใจที่สุดในหนังสือเล่มนี้อยู่ในสองหน้านั้น เป็นบทสรุปที่ดี และอาจจะทำให้เราเห็นอะไรหลายอย่างและนึกอยากทำอะไรหลายอย่าง... ละมังนะ