รวมเรื่องสั้น 7 เล่มสุดท้ายรางวัลซีไรต์ ประจำปี 2566

ครบรอบ 45 ปี  ‘หลากหลายในความร่วมสมัย’

 

 

 

                วันจันทร์ที่ 28 สิงหาคม 2566 เวลา 14.00 น.  คณะกรรมการดำเนินงานรางวัลซีไรต์ ได้จัดงานแถลงข่าวประกาศผลรางวัลซีไรต์รอบคัดเลือก หรือ Shortlist ประเภท ‘รวมเรื่องสั้น’ ประจำปี 2566 ซึ่งเป็นวาระครบรอบ 45 ปีซีไรต์  ณ ห้องประชุม Auditorium  C asean ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ ภายใต้การบริหารงานของ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หนึ่งในผู้สนับสนุนหลักของซีไรต์

 

 

 

                ในงาน ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานคณะกรรมการดำเนินงานรางวัลซีไรต์ ได้สรุปกระบวนการการคัดเลือกหนังสือรวมเรื่องสั้นที่ส่งเข้าประกวดในปีนี้ โดยมีหนังสือรวมเรื่องสั้นส่งประกวดมากถึง 64 เล่ม คณะกรรมการคัดเลือกได้พิจารณาในรอบแรก หรือ Longlist จำนวน 17 เล่ม และได้ประกาศรายชื่อไปแล้วเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2566  และในวันที่ 28 สิงหาคม 2566 นี้ คณะกรรมการคัดเลือกก็ได้ข้อสรุปสำหรับการพิจารณาหนังสือรอบคัดเลือกหรือ Shortlist แล้ว มีมติเป็นเอกฉันท์เสนอรวมเรื่องสั้นจำนวน 7 เล่ม เพื่อให้คณะกรรมการตัดสินพิจารณาต่อไป โดยมีรายชื่อหนังสือเรียงตามลำดับตัวอักษร ดังนี้

 

1.

DIVINE BEING  ไม่ใช่มนุษย์ และตัวตนอื่น ๆ

จิดานันท์  เหลืองเพียรสมุท

สำนักพิมพ์แซลมอน

2.

FAMILY COMES FIRST  ด้วยรักและผุพัง

นริศพงศ์  รักวัฒนานนท์

สำนักพิมพ์แซลมอน

3.

จักรวาลล้วนวงกลม

วัฒน์  ยวงแก้ว

ผจญภัยสำนักพิมพ์

4.

ท่านกัปตัน และเรื่องเล่าของคนอื่น ๆ

ศิริวร  แก้วกาญจน์

ผจญภัยสำนักพิมพ์

5.

สเปโรโซนาตา ท่วงทำนองแห่งความหวัง

รมณ  กมลนาวิน

สำนักพิมพ์สำเภา

6.

สลายสิ้นซึ่งความหวังรังรอง

ตินกานต์

สำนักพิมพ์ระหว่างบรรทัด

7.

อาจไม่เหมาะหากเปราะบาง

จิดานันท์  เหลืองเพียรสมุท

สำนักพิมพ์ระหว่างบรรทัด

 

                จากนั้น ดร.อลงกต  ใหม่ด้วง หรือที่รู้จักกันในนามปากกา ‘กัลปพฤกษ์’ นักวิจารณ์วรรณกรรม ภาพยนตร์ ดนตรี ละครเวที และศิลปะ ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการคัดเลือกประจำปีนี้ ได้กล่าวถึงภาพรวมของหนังสือรวมเรื่องสั้นที่ส่งประกวดทั้ง 64 เล่มว่า  ส่วนใหญ่จะมีเนื้อหาเกี่ยวกับสังคมโลกยุคปัจจุบัน ความเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้คนตามกระแสเทคโนโลยี มีการอ้างอิงถึงการใช้สื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ เช่น เฟซบุ๊ก ไลน์ ติ๊กต็อก ยูทูป  เล่าชีวิตท่ามกลางโรคระบาดโควิด-19 และการล็อกดาวน์  ตัวละครประกอบอาชีพใหม่ ๆ เช่น นักสร้างเนื้อหาออนไลน์ (content creator) บล็อกเกอร์ วล็อกเกอร์ ยูทูเบอร์ แม่ค้าออนไลน์ หรือ ไรเดอร์  สะท้อนภาพความสัมพันธ์อันข่มขื่นในครอบครัวร่วมสมัยที่สมาชิกทำลายความรู้สึกกันเองอย่างน่าเศร้า หลายเรื่องก็เล่าถึงประวัติศาสตร์สังคมและการเมืองของประเทศไทยไล่มาจนถึงความขัดแย้งต่าง ๆ ในปัจจุบัน และที่โดดเด่นเป็นพิเศษคือเรื่องสั้นที่เล่าถึงภาวะภายในของตัวละครใหม่ ๆ เช่น กลุ่ม LGBTQ+ ได้อย่างดำดิ่งและลุ่มลึก นอกจากนี้นักเขียนไทยยังขยายความสนใจไปยังตัวละครต่างชาติต่างภาษาหลากหลายถิ่นที่นอกประเทศไทย ที่ให้สำนึกของการเป็นพลเมืองโลกอีกด้วย  ภาพรวมของเรื่องสั้นที่ส่งประกวดจึงมีความร่วมสมัยเป็นอย่างมาก มีพัฒนาการที่แตกต่างไปจากเรื่องสั้นในรอบ 5 หรือ 10 ปีก่อนหน้านี้อย่างชัดเจน

 

 

                สำหรับรวมเรื่องสั้นแต่ละเล่มในรอบคัดเลือกก็มีความแตกต่างหลากหลาย โดยเฉพาะผลงานของนักเขียนหญิงที่โดดเด่นเป็นพิเศษ ทำให้ผลงานรอบคัดเลือกรางวัลซีไรต์ในปีนี้ สร้างสถิติมีผลงานของนักเขียนหญิงมากกว่านักเขียนชายเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของรางวัลซีไรต์รอบคัดเลือก คือเป็นผลงานของนักเขียนหญิง 4 เล่ม และนักเขียนชาย 3 เล่ม  และ จิดานันท์  เหลืองเพียรสมุท นักเขียนหญิงเจ้าของรางวัลซีไรต์จากรวมเรื่องสั้น สิงโตนอกคอก ประจำปี 2560 ก็มีผลงานใหม่เข้ารอบคัดเลือกในปีนี้พร้อมกันถึงสองเล่ม คือ DIVINE BEING ไม่ใช่มนุษย์และตัวตนอื่น ๆ รวมเรื่องสั้นไซไฟและแฟนตาซีที่เล่าเรื่องราวของตัวละคร ‘อมนุษย์’ รูปแบบต่าง ๆ และ อาจไม่เหมาะหากเปราะบาง ที่สะท้อนถึงความอ่อนไหวภายในต่อทั้งกามารมณ์และอารมณ์โหยหาความรักของตัวละครชายรักชาย จนได้เป็นวรรณกรรมแนววายรูปแบบใหม่ ไปจนถึงตัวละครชายหญิงอื่น ๆ  ในขณะที่ สเปโรโซนาตา ท่วงทำนองแห่งความหวัง ของ รมณ กมลนาวิน ก็โดดเด่นในการวางโครงสร้างเรื่อง และกลวิธีการเล่า ซึ่งอาศัยลูกเล่นการแฟลชแบ็คเหตุการณ์ สะท้อนบาดแผลและความเจ็บปวดครั้งแล้วครั้งเล่าของตัวละครชายขอบสังคมที่ถูกทำร้ายโดยความรุนแรง  ส่วน สลายสิ้นซึ่งความหวังรังรอง ของ ‘ตินกานต์’  ก็เล่าเรื่องราวของตัวละครทั้งต่างชาติและชาวไทย ทั้งเพศหญิงและเพศชาย ได้อย่างอ่อนโยนและละเมียดละไม ประณีตบรรจงและใส่ใจกับมิติอารมณ์ระดับลึกของตัวละครจนชวนให้เจ็บปวดตามไปด้วยในทุกเรื่อง

 

                ด้านผลงานของนักเขียนชาย FAMILY COMES FIRST  ด้วยรักและผุพัง ของ นริศพงศ์  รักวัฒนานนท์ ก็เล่าเรื่องราวร่วมสมัยของครอบครัวเชื้อสายจีนในประเทศไทย ที่ความคิดเชื่อเก่าโบราณและความไม่เท่าเทียมทางเพศระหว่างทายาทเพศหญิงและชายก็ยังคงมีอยู่แม้ในปัจจุบันจนน่าใจหาย  จักรวาลล้วนวงกลม ของ วัฒน์  ยวงแก้ว  ก็ยังคงประกาศความสามารถในฐานะ ‘นักเล่าเรื่อง’ ผ่านงานวรรณกรรมที่โดดเด่นของผู้ประพันธ์ได้เป็นอย่างดี จากชีวิตตัวละครที่มีความเป็นปุถุชนคนธรรมดา แต่ วัฒน์ ยวงแก้ว ก็สามารถหาแง่มุมพิเศษมาเล่าจนกลายเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นได้ ทั้งยังขยายขอบเขตความสนใจจากเรื่องราวของมนุษย์โลกไปสู่เวิ้งจักรวาลอันกว้างใหญ่  และสุดท้าย ท่านกัปตัน และเรื่องเล่าของคนอื่น ๆ โดย ศิริวร แก้วกาญจน์ นักเขียนรางวัลซีไรต์ จากนวนิยายเรื่อง เดฟั่น เรื่องเล่าของตระกูลคนเฆี่ยนเสือจากไทรบุรี เมื่อปี 2564  ซึ่งรวมเรื่องสั้นเล่มนี้นับเป็นผลงานวรรณกรรมเล่มที่ 12 ของ ศิริวร แก้วกาญจน์ ที่ผ่านเข้ารอบ Shortlist รางวัลซีไรต์ สร้างสถิติยืนหนึ่งเป็นนักเขียนที่มีผลงานในรอบ Shortlist มากที่สุดในประวัติศาสตร์  ท่านกัปตัน และเรื่องเล่าของคนอื่น ๆ จะนำพาผู้อ่านว่ายเวิ้งไปยังภาพชีวิตอันหลากหลายของตัวละครจากทั่วดินแดนอาเซียน ไล่มาตั้งแต่ยุคสมัยล่าอาณานิคม สงครามโลกครั้งที่สอง จนถึงยุคปัจจุบัน ทั้งยังมีการประดิษฐ์รูปแบบทางภาษาใหม่ ๆ ด้วยการผสมผสานการเขียนร้อยแก้วเข้ากับงานกวีนิพนธ์ มีการนำเอากลบท ‘วัวพันหลัก’ และ ‘ม้าเทียมรถ’ มาใช้ หรือในบางเรื่องก็อาศัยการใช้คำซ้ำเป็นกระทู้ต้นประโยค

 

                รวมเรื่องสั้นในรอบคัดเลือก ประจำปี 2566  จึงนับว่าหลากหลายและเข้มข้น มีความสดใหม่ในแนวทางของตัวเองที่น่าอ่านเป็นอย่างยิ่ง แสดงให้เห็นว่าการเขียนเรื่องสั้นไทยยังคงก้าวไปข้างหน้า เท่าทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วทั้งทางด้านสังคมและเทคโนโลยี ที่กระทบต่อชีวิตผู้คนจนไม่สามารถยึดถือครรลองชีวิตแบบเดิม ๆ ได้อีกต่อไป

 

                สำหรับกรรมการคัดเลือกอีก 6 ท่านประจำปี 2566 นี้ ก็ประกอบด้วย ดร.จิรัฏฐ์  เฉลิมแสนยากร  นายภาณุพงษ์  คงจันทร์  ดร.วันชนะ ทองคำเภา  นายสาคร พูลสุข  ดร.อรพินท์  คำสอน และ นางสาวอำไพ  สังข์สุข หรือ ‘เงาจันทร์’