The Storyteller EP01 นักเล่าเรื่อง ผู้ลุ่มหลงฤดูร้อนในวัยเด็ก

นักคิด จากความจริงในชีวิต สู่ลายเส้นอันเป็นเอกลักษณ์

“ผู้ใหญ่หลายคนบอกว่าอยากกลับไปเป็นเด็กอีก เพราะชีวิตดี แต่นั่นมันเพราะพวกเขาผ่านประสบการณ์ชีวิตมากขึ้น เลยมองปัญหาตอนยังเด็กว่าเล็กน้อย นั่นมันอวดดีชะมัดเลย เพราะต่อให้ย้อนกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง ก็ใช่ว่าเขาจะจัดการปัญหากับชีวิตที่เกิดขึ้นได้ ขนาดของภาระมันก็แปรผันไปตามช่วงวัยและความเหมาะสมของแต่ละคนอยู่ดี”

- จากหนังสือ ชายหนุ่มผู้ไม่ทำอะไรเลย -

_____________________________________________________________________

องอาจ ชัยชาญชีพ

แน่นอนครับวันนี้กับ The Storyteller คนแรกของเรา คุณโตโต้ หรือ องอาจ ชัยชาญชีพ เจ้าของผลงานที่เป็นที่รู้จักมากมาย หลายคนรู้จักเขาจากคาแลคเตอร์หัวแตงโม แต่เอาจริงๆ ต้องบอกว่าเขาคนนี้เป็นอะไรได้หลายอย่างตามแต่ใจต้องการนะ จะเป็นนักวาด นักเล่า นักระบาย (ความในใจตัวเอง!) เรียกได้ว่าครบเครื่องเลยละ

เป็นความโชคดีของเราอย่างนึง ที่ต้องบอกว่าการได้คุยกับพี่โต้เอง ก็ช่วยเปิดมุมมองของการทำงานให้เราอะไรอีกหลายอย่าง และเรายังเป็น FC หนังสือพี่โต้อีกด้วยนะ

อันดับแรกแนะนำตัวเองกับแฟนๆ ร้านนายอินทร์หน่อยครับ:

            สวัสดีครับ องอาจ ชัยชาญชีพ หรือโตโต้ เป็นนักเขียน นักวาด หรือเอาจริงๆ แล้วผมมักจะให้ความจำกัดความตัวเองว่าเป็นนักเล่าเรื่องมากกว่า เพราะลักษณะงานมีหลายรูปแบบทั้งการ์ตูน นิทาน บทความ ความเรียง หรือจะนิยาย เรียกว่าเป็นนักเล่าเรื่อง นักวาด หรือนักเขียน ผมก็รับได้หมดนะ

 

แล้วพี่โต้เองเข้ามาทำงานในวงการหนังสือนี้ได้ยังไงหรอครับ:

            คือจริงๆ ต้องบอกว่า เป็นคนชอบอ่านหนังสือตั้งแต่เด็กๆ อาจจะมีประกวดวาดรูป ส่งเรื่องขำขันบ้าง แต่พอเรียนจบก็ทำงานออฟฟิซตามปกติ ถึงจุดนึงเราก็อยากจะลาออกมาทำอะไรเอง ก็เริ่มเขียนงานตัวเอง ผมว่าคนเป็นนักเขียนจะมีความคล้ายคือ ทุกคนมีเรื่องจะเล่า ชีวิตผมเองไม่เคยอยากเป็นนักเขียนเลย แค่ชอบอ่านหนังสือ แล้วการเป็นนักเขียน ตอนวัยรุ่น เรารู้สึกเขาคือดาราเลยนะ แบบเข้าไปในร้านแล้วเงยหน้ามอง โอ้ว ดาราของเราออกหนังสือ เอาจริงๆ เราไม่เคยคิดว่าเรามาถึงจุดนี้ได้ ตอนแรกๆ เราก็เขียนงานเล่นๆ ให้คนนู้นคนนี้อ่าน เขาก็ชอบกัน เลยเอาไปเสนอ มีโอกาสได้ตีพิมพ์ ชีวิตเราเริ่มจากตรงนี้มากกว่า

 

งานเขียนของพี่โต้เอง กว่าจะได้ผลงานแต่ละเล่ม พี่โต้มีแนวคิดหรือหลักการทำงานอย่างไรครับ:

 

            เราวางแนวคิดเองหมดเลยนะ จริงๆ ต้องยอมรับว่า วิธีการทำงานมันโบราณ เป็นศิลปินที่ใช้อารมณ์ในการทำงาน เราโตมาในยุคที่คนต่อต้านความคิดพวกนี้นะ แบบต้องมีวินัย ต้องเคร่งครัด ตื่นเช้า ทำตอนกี่โมงเสร็จกี่โมง เราเองก็เคยบังคับตัวเองให้ทำตามหลักนี้นะ แต่ไม่เวิร์คจริงๆ เรารู้สึกว่า วิถีทางของใครก็ของมัน เราเองก็มีวิธีการทำงานแบบนี้ สุดท้ายเราก็ทำงานตามแรงบัลดาลใจ ความสนใจ อารมณ์ความรู้สึกของเราในช่วงนั้น คือไม่ได้บอกว่าดีหรือไม่ดีนะ แต่เรารู้สึกว่าเราชอบ เราสัมผัสได้ พองานออกมาเราคิดว่ามันจะต้องมีคนรู้สึกแบบเดียวกับเรา

 

            สิ่งเหล่านี้เราว่ามันคุ้มค่ากว่าการที่เราไปทำงานวางโครงสร้าง จะทำอะไร ทำแล้วจะขายได้ไหม ต้องตามกระแสหรือเปล่า แต่ถ้าเราทำงานตามความรู้สึก ซื่อสัตย์ต่องานตัวเอง พอมีคนสัมผัสได้งานเราได้ งานมันก็จะยืนระยะ จะอยู่ไปได้อีกนาน เพราะมันเป็นบันทึกความคิดและความรู้สึกของเราจริงๆ ในช่วงนั้น

 

 

พูดถึงคาแรคเตอร์ที่โดดเด่นมากๆ อย่าง หัวแตงโม พี่โต้ออกแบบตัวละครตัวนี้ออกมายังไงครับ:

            จริงๆ แล้ว เล่มแรกๆ ที่คนรู้จักและเพื่อนยังแซวกันอยู่คือ หมูบินได้ ส่วนตัวหัวแตงโมเนี่ย แรกๆ เราทำงานในนิตยสารและหนังสือพิมพ์ เป็นงานการ์ตูน ทีนี้ทาง บก. รู้สึกว่าอยากให้มีนักเขียนออกมาทักทายคนอ่านบ้างในบางครั้ง เราเลยวาดหัวแตงโมขึ้นมาเป็นตัวแทนของตัวเราเอง เพื่อสื่อสารกับคนอ่าน

           

            ความจริงอีกอย่างคือหัวแตงโมเนี่ย มีลักษณะที่เป็นมนุษย์มากๆ ทั้งที่หัวเป็นแตงโม เราดูคาแรคเตอร์ของมันดีๆ เนี่ย หัวเขียวๆ ใส่แว่น เรารู้สึกว่ามันมีชีวิต แต่พอถอดแว่นมันออก มันไม่มีอะไรเลยนะ เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่ามันดีใจ เสียใจ ร้องไห้อยู่หรือเปล่า แต่มันกลับมีความรู้สึกเต็มๆ เลย เพราะหัวแตงโมเป็นดีไซน์ตัวการ์ตูนที่แฟนตาซีนะ แต่เนื้อเรื่องมันทั้งหมด มันอยู่กับมนุษย์ธรรมดาทั่วไป แล้วไม่เคยมีใครตกใจเมื่อเห็นมัน เราและคนอ่านเองก็ยอมรับได้

 

            หัวแตงโมเป็นสัญลักษณ์แสดงความแตกต่างให้ออกมาเป็นรูปธรรม เช่นเหมือนใครคนนึงที่มีทัศนะคติ มีอุดมคติ มีลักษณะการใช้ชีวิตที่ต่างจากคนอื่น มันเป็นสิ่งที่มองไม่เห็นนะ แต่หัวแตงโมคือสัญลักษณ์ที่บอกว่าคนๆ นี้เขาไม่ Fit-in แต่เขาก็ไม่ได้อินดี้ขนาดต้องไปอยู่บนเกาะร้าง เขาก็อยู่ในเมือง กินข้าวเหมือนคนปกตินี่แหละ แต่เขาก็มีความแตกต่าง แต่อยาก Fit-in อยากถูกรัก อยากได้รับการยอมรับเท่านั้นเอง

ทีนี้พูดถึงผลงานถัดมากันบ้าง พี่โต้มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหา แนวคิด การนำเสนอบ้างไหมครับ:

            เชื่อไหมว่างานทุกเล่มของเรา ตลอด 17-18 ปีที่ผ่านมา เราก็เพิ่งสังเกตุนะ งานของเราพูดถึงประเด็นเดียวเลยนะ นั่นคือ ตัวละครที่แตกต่าง แปลกแยกจากสังคม แต่ไม่ได้ก่นด่านะ ไม่ได้ปลีกตัวด้วย แถมเขายังอยากอยู่ในสังคมกับเราอีก มันคือความแปลกแยกแบบอ่อนแอนะ แบบ ‘เราขออยู่กับเธอด้วยได้ไหม’ แล้วมีความโทษตัวเองมากกว่าโทษสังคม

โอเคด้วย Curve มันก็จะมีอารมณ์บางช่วงแบบโมโห เข้าใจโลก ปรับตัวจนตลกโปกฮา บางทีก็เศร้า มันคือโครงสร้างความเป็นมนุษย์ ทั้งหมดคือวงจรชีวิตของคนประเภทนี้ที่เรานำเสนอออกมา

 

ทีนี้เราอยากรู้แนวคิดของพี่โต้ สกิลเอาตัวรอดแบบไหน ที่พี่โต้คิดว่าจำเป็นในปัจจุบัน :

            ทุกอย่างมันเป็นวัฏจักรนะ ก็คือวงจรชีวิต การเวียน ว่าย ตาย เกิด เราเชื่อว่าชีวิตคนเวลาเผชิญ เรื่อง ทุกข์ สุข ย่ำแย่ในชีวิตเนี่ย มันก็เหมือนฤดูกาล มันมีฤดูร้อน แดดออกจ้า ฤดูฝน พายุกระหน่ำ แม้ในช่วงนั้นเราจะคาดกาลได้ว่าเราจะต้องเตรียมรับมืออย่างไร แต่ในโลกความจริงแม้ในฤดูร้อน ฝนก็ตกได้นะเว้ย เราต้องเข้าใจมัน เราควบคุมไม่ได้ เราวางแผนรับมือได้ แต่ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์

 

           ในเมื่อมันควบคุมไม่ได้ ก็ยอมรับผลของมัน สิ่งที่ทำให้รู้สึกอยู่ได้ ไม่ว่าจะสุข หรือทุกข์ มันไม่มีอะไรอยู่กับเราตลอดไป มันก็เหมือนกับฤดูกาลที่เปลี่ยนไป เพราะฉะนั้นไม่เป็นไร เสพมันไว้ในทุกขณะ ทั้งสุขและทุกข์นั่นแหละ เร้าใจดี

 

งั้นเราให้พี่โต้ฝากผลงานกันดีกว่า :

 

           สังเกตุกันไหมว่าหนังสือแต่ละเล่มของเราจะเป็นฤดูร้อนหมดเลย เราเป็นคนรักฤดูร้อน เพราะเราฝังใจกันฤดูร้อนนะ เพราะมันเป็นฤดูที่เด็กปิดเทอม มีแดดออกวิ่งเล่นได้สนุกสนาน พอเราพูดถึงฤดูร้อนพูดถึงการปิดเทอม

 

           ถ้าพูดถึงผลงานของเรา เล่มที่ผมอยากฝากไว้คือเล่ม ปรากฏการณ์ธรรมดาภาคฤดูร้อน เล่มนี้ไม่ได้พิมพ์มา 10 ปีแล้วละ แต่มันเป็นงานที่ High-Concept มีเรื่องของวิธีคิดที่จะแตกต่างกับเล่มอื่น แต่เล่มนี้มีแนวคิดธรรมดามากๆ แต่พออ่านแล้ว ทุกคนจะรู้สึกถึงความไม่ธรรมดาของมันเลยล่ะ

_______________________________________________________________________

            ช่วงท้ายของการสัมภาษณ์ ผมก็คุยกับพี่โต้ว่า พี่โต้เขียนงานที่กระแทก สะกิดใจคนอ่านขนาดนี้ พี่โต้ถือเป็นนักปรัชญาได้เลยนะครับเนี่ย พี่โต้ยิ้มเล็กๆ และพูดเหมือนข้างต้นว่า ไม่อยากให้มองพี่เป็นขนาดนั้น พี่ก็คนธรรมดา แต่แค่ว่าเราสามารถเล่าเรื่องธรรมดาทั่วไปที่เจอได้ในชีวิตของคนทุกคน แต่เราถ่ายทอดมันออกมาได้สะกิดใจคนอ่านมากกว่า

 

            เอาจริงๆ เราทุกคนเป็นนักปรัชญาในแบบของตัวเองได้นะ แต่ขึ้นอยู่กับว่ามุมมองของเราต่อโลกที่เป็นอยู่ หรือในสังคมที่เราอยู่นั้น มันส่งผลให้เราเป็นคนแบบไหนเท่านั้นเอง

 

            สำหรับผู้ที่สนใจหนังสือของพี่โต้ หรือองอาจ ชัยชาญชีพ ก็สามารถหาซื้อได้แล้วนะครับที่ร้านนายอินทร์ทุกสาขา และทางเว็บไซต์ที่ลิ้งนี้เลยครับ https://www.naiin.com/writer/009439/