รีวิว : นิยายข้างจอ

ครั้งหนึ่งผมเคยไปเดินดูหนังสือที่ร้าน Kinokuniya บนสยามพารากอน เจอหนังสือเล่มหนึ่ง ชื่อว่า 1001 Movies You Must See Before You Die เป็นหนังสือที่นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับหนัง 1001 เรื่องที่คุณควรจะดูก่อนจะตายจากโลกนี้ไป ใจหนึ่งก็คิดว่า อะไรมันจะขนาดนั้น อีกใจหนึ่งก็อดรู้สึกถึง “มิติที่ลึกกว่า” ในการนำเสนอข้อมูลของพวกฝรั่งไม่ได้ คือเขาจะทำออกมาในเชิงเอกสารวิชาการมาก อาจจะว่าเอาไว้อ้างอิงหรือค้นคว้าได้เลย แม้ว่าจะมีหนังสือนิยาย (จำลองชีวิตในรูปแบบความฝัน แล้วผลิตออกมาในรูปแบบนิยาย) ในรูปแบบใหม่ออกมาให้อ่านกันปีละหลายพันเล่ม และมีหนังถูกสร้างออกมาให้ดูปีละนับพันเรื่อง แต่หนังสือและหนังที่ยอมรับว่าเป็นงานคลาสสิกนั้น เป็นสิ่งที่เราๆ ท่านๆ ควรหาโอกาสสัมผัสสักครั้ง เพื่อจะได้รู้ว่ามันดีอย่างไร จริงๆ แล้วผมเองก็ชอบทั้งดูหนัง อ่านหนังสือ แล้วก็มีโอกาสได้ดูหนังดีๆ อ่านหนังสือดีๆ ค่อนข้างมาก เพียงแต่ว่าสาระที่นำมาคิด หรือผลพลอยได้อาจจะไม่มากเท่าที่คนทำหนังหรือคนทำหนังสือเขาอยากนำเสนอเท่านั้นเอง การได้ดูหนังดีๆ สักเรื่อง หรืออ่านหนังสือดีๆ สักเล่มในช่วงเวลาที่เหมาะสม จะช่วยให้เรามองเห็นโลกในอีกมุม หรือช่วยสร้างมุมมองให้เรา กระทั่งเป็นไกด์ไลน์ให้กับเราได้ จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะมีวรรณกรรมแนะนำสำหรับเยาวชน หนังสืออ่านนอกเวลา มีหนังสำหรับเด็ก สำหรับคนดูบางคน หนังบางเรื่องไม่เพียงสร้างความประทับใจ แต่กลับสร้างความทรงจำให้กับชีวิต หนังสือบางเล่มกลายเป็นคัมภีร์ทีหยิบมาอ่านได้เสมอ เหมือนคนบางคนใช้ชื่อว่า กัมป์, พินอคคิโอ, U571, 1900 เป็นชื่อเล่นในอินเทอร์เน็ต ซึ่งอาจจะเป็นความประทับใจของเขาต่อตัวละครเหล่านั้น หนังสือ นิยายข้างจอ ของวินทร์ อ่านเพื่อความบันเทิงก็ได้ หรืออ่านเพื่อสาระ และเก็บไว้อ้างอิงก็ได้ รูปแบบการเขียนนั้น เน้นเอาความรู้สึกของคนมาเกี่ยวพันกับหนังมากกว่า แต่ในขณะเดียวกันก็มีการรวมกลุ่มหนัง หรือหนังสือที่เกี่ยวข้องกันมาไว้ด้วยกันด้วย โดยรวมแล้ว วินทร์พูดถึงหนังชั้นดีหลายๆ เรื่อง และหนังสือวรรณกรรมชั้นเยี่ยม อีกหลายเล่ม ทั้งหนังฮอลีวูด หนังไทย และหนังจีน ส่วนหนังสือก็มีทั้งหนังสือไทย หนังสือฝั่งอเมริกา หรือหนังสือนิยายกำลังภายใน ที่โดนใจผมน่าจะเป็นการวิเคราะห์เจาะลึกถึงกลยุทธ์กลไกของหนังสือ หรือหนังแต่ละเรื่องที่ประสบความสำเร็จ โดยเชื่อมโยงว่า มันเกี่ยวกับ 'ความรู้สึก' หรือ 'จิตใต้สำนึก' ของผู้คน แต่ไม่ได้รวมถึงการนำเสนอด้านมืดแม้ว่าจะมีหนังอีกหลายเรื่องที่น่าจะนำมาขบคิดหรือพูดถึง หรือหนังสือนิยายอีกหลายเล่มที่วินทร์ไม่ได้นำมาเสนอในหนังสือเล่มนี้ แต่มันก็ยังเป็นหนังสือระดับอ้างอิงหนัง/หนังสืออมตะที่ควรอ่านจริงๆ