สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน

ผู้เขียน: วินทร์ เลียววาริณ

สำนักพิมพ์: 113

หมวดหมู่: วรรณกรรม , เรื่องสั้น

0 รีวิว เขียนรีวิว

209.00 บาท

220.00 บาท ประหยัด 11.00 บาท (5.00 %)

จำนวนคะแนนที่ได้รับ 24 แต้ม

รวมเรื่องสั้นรางวัลซีไรต์ 2542 < แสดงน้อยลง รวมเรื่องสั้นรางวัลซีไรต์ 2542

Tags: ชีวิด , เด็กแนว , รวมบทความ , รางวัลซีไรต์

209.00 บาท

220.00 บาท
220.00 บาท
ประหยัด 11.00 บาท (5.00 %)

จำนวนคะแนนที่ได้รับ 24 แต้ม

จำนวน :

1

จำนวนหน้า
367 หน้า
ประเภทสินค้า
ขนาด
14.2 x 21 x 1.6 CM
น้ำหนัก
0.414 KG
บาร์โค้ด
9786169036777

รายละเอียด : สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน

รวมเรื่องสั้นและบทความ ที่เรียกว่า "มิติใหม่ของงานเขียนร่วมสมัย... สื่อเรื่องราวและความคิดที่ซับซ้อนลึกซึ้ง" รางวัลซีไรต์ ปี 2542 หนึ่งในหนังสือดี 100 เล่มที่เด็กและเยาวชนควรอ่านจาก สกว. หนึ่งใน 101 อันดับหนังสือเล่มในดวงใจนักอ่านเเละนักเขียน สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย เบสต์เซลเลอร์ ยอดจำหน่ายกว่า 100,000 เล่ม เรื่องสั้นบางเรื่องได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น จีน เวียดนาม รวมเรื่องสั้นแนวทดลองสะท้อนสิ่งที่เป็นไปในสังคมและโลก โดยมองจากมุมของจักรวาล โดยชี้ให้เห็นที่มาของสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์มนุษย์ซึ่งถือกำเนิดมาในโลกนี้ วิวัฒนาการ และสร้างสังคม ระบบต่างๆ ซึ่งกลายเป็นกรอบในการดำเนินชีวิต แนวคิดของหนังสือเสนอว่า หากเราลองมองสิ่งที่เป็นไปในมุมกว้างระดับจักรวาล จะพบว่าเห็นภาพหลายปัญหาชัดเจนขึ้น และท้ายที่สุดก็อาจทำให้เรามีความสุขขึ้น

รีวิวโดยบุ๊คเมท : สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน

ในบรรดานักเขียนไทยที่สร้างสรรค์งานในเชิงทดลอง ชื่อของ วินทร์ เลียววาริณ ถือเป็นนักเขียนในแนวทางนี้ ที่ยืนอยู่ตรงแถวหน้า ผลงานล่าสุดของเขา... รวมเรื่องสั้น สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน  นับเป็นงานสร้างสรรค์ที่มีมิติของการแสดงความสำคัญในคุณค่าของวรรณกรรมทั้ง รูปแบบ เนื้อหาและความคิด ผ่านการตีค่าของความเป็นคนในประเด็นที่ว่า คนทุกคนคือสิ่งที่มีความคิด... เป็นสิ่งมีชีวิตที่แรงขับเคลื่อนทางกายและใจถูกผลักดันโดยขบวนการแห่งความสงสัยใคร่รู้     
แน่นอนที่สุด ที่เราสามารถยืนยันได้ว่า ทุกสรรพสิ่งในโลกนี้ ล้วนมีปริศนาด้านความหมายและการตีความที่ถูกควบคุมอยู่ โดยบางสิ่งที่เราไม่รู้ไม่เห็นมากมาย ภารกิจของความเป็นคนในยุคสมัยปัจจุบันไม่ว่าจะอยู่ในสถานะใด จึงอยู่ที่การพยายามตั้งคำถามหรือการพยายามตั้งข้อสงสัย เพื่อนำไปสู่การแสวงหา และสืบค้นถึงความจริง      
วินทร์ เลียววาริณ นำเสนอวิธีการใฝ่หาความจริงของเขาในเรื่องราวของความเป็นคนด้วยมุมมองของ ‘ความเป็นเรื่องสั้น’ จำนวน 17 เรื่อง 17 แง่มุมของความคิดโดยย้อนไปในอดีตนับล้านปี และผูกโยงมาถึงอายุขัยของโลก นับแต่กำเนิดของสิ่งมีชีวิต ซึ่งเป็นสัตว์เซลล์เดียวเรื่อยมาจนถึงวิวัฒนาการแห่งสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า ‘คน’ เหมือนเช่นในปัจจุบัน   
วินทร์พยายามจะอธิบายข้อสงสัยต่างๆ ของความเป็นคน ผ่านทั้งทางศาสตร์และสำนึกต่างๆมากมายไม่ว่าจะเป็นในด้านของสังคม การเมือง ศาสนา ธรรมชาติวิทยา เทคโนโลยีแผนใหม่ ฯลฯ ซึ่งสามารถบอกได้ว่าในฐานะของความเป็นนักเขียน เขาได้ทุ่มเทศึกษาอย่างเต็มที่ในสิ่งต่างๆที่เขามีข้อสงสัย 
“เคยสงสัยว่า...หน้ากากติดมากับคนตั้งแต่ช่วงไหนของอารยธรรมมนุษย์  ใช่ไหมว่า...มันมาพร้อมกับสิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรม? ยิ่งวัฒนธรรมพัฒนาไป หน้ากากก็ยิ่งมีหลายใบ? คำถามคือ...ในเมื่อเราทุกคนที่รู้ว่าเราสวมหน้ากากเข้าหากันต่างรู้สึกไม่เป็นธรรมชาติเหมือนกัน “ทำไมยังต้องสวมอยู่ ทำไมสลัดมันไม่หลุด”  
ข้อสงสัยในประเด็นตัวอย่างข้างต้นดูเหมือนจะถูกแจกแจงเพื่อค้นหาคำตอบด้วยหลักการแห่งการวิเคราะห์ (Rule of Synthesis) อันหมายถึงการนำเอาแต่ละส่วนที่วิเคราะห์มาผูกเกี่ยวเข้าด้วยกันเพื่อชี้ให้เห็นภาพรวมโดยใช้หลักการในลักษณะ ตรรกะของการสรุป (deduction) โดยเริ่มจากง่ายไปสู่ยากหรือไปสู่การสรุปที่มีความซับซ้อนในที่สุด  
จากประเด็นดังกล่าว วินทร์ ให้ข้อสรุปว่า... ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็น ‘พิมพ์เขียวของชีวิต’ หรือเป็นเพราะ ‘การวิวัฒนาการของระบบสังคม’ กันแน่     
การใช้วิธีการเช่นนี้ในการอธิบายความและให้ข้อสรุปเรื่องราวใดเรื่องราวหนึ่ง ที่ถูกนำมาผูกเป็นเนื้อหาของเรื่องสั้นแต่ละเรื่อง... ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องโดยลำดับจากเรื่องสั้นแต่ละเรื่องแรกไป จนถึงเรื่องสุดท้าย ทั้ง 17 เรื่องถูกอธิบายและหาขยายแก่นแห่งสาระด้วยข้อเขียนเชิงบทความที่มองเห็นถึงการทุ่มเทจิตใจอย่างเต็มที่ของวินทร์ในฐานะผู้เขียนที่จะได้มาซึ่งข้อเท็จจริง ในประเด็นข้อสงสัยนั้นๆ อย่างเต็มที่  
เรื่องสั้นทั้งหมดของเราเปรียบได้ดั่งภาพตัวอย่างที่เป็นภาคขยายของ ‘ความคิด’ ในการปรารถนาคำตอบที่ยังคงอยู่ในความมืดมนทั้งด้านนอกและด้านในของชีวิตมนุษย์ ซึ่งก็พอจะสรุปความโดยรวมได้ว่า ในการเกิดมาเป็นคน ทุกๆคนต้องการที่จะมีชีวิตที่ดีงาม (Good Life) แต่ทำไมคนแต่ละคนถึงไปตรงที่นั้นได้ยากยิ่ง  
การมีชีวิตที่ดีงามคืออะไร? นั่นเป็นคำถามที่ถูกระบุคำตอบโดยรวมว่า ชีวิตจะดีหรือไม่ดีนั้นขึ้นอยู่ที่ ‘แบบแผนของการดำเนินชีวิต’ ของบุคคลมากกว่า ‘รูปแบบเบ็ดเสร็จของชีวิต’  นั่นเป็นสิ่งที่วินทร์สามารถอธิบายผ่านความคิดในระบบต่างๆ ที่นำมาจับประเด็นในการตีความหมายได้ว่า “ชีวิตที่ไม่ดีคือชีวิตที่ไม่ยืดหยุ่น ไร้เป้าหมายและไร้ทิศทางในการดำเนินชีวิต ชีวิตที่ดีไม่ใช่คนที่ประสบผลสำเร็จในชีวิตด้านต่างๆ คนคนนั้นอาจมีชีวิตที่ขาดๆเกินๆ แต่เขามีเป้าหมายในการดำเนินชีวิต และไม่ตกเป็นทาสที่ผูกมัดของสิ่งใดไม่ว่าจะเป็นค่านิยม ประเพณี หรือวัฒนธรรม”  
ในเรื่องสั้น หมากลางถนน และ เพชฌฆาต... วินทร์เหมือนต้องการที่จะแสดงว่า... ภาวะแห่งความเป็นคน.. ต้องดำเนินไปด้วยการเปิดตาเปิดใจรับรู้ความคิดความรู้สึกของตนอย่างจริงใจ และด้วยความตั้งใจไม่ว่าความคิด ความรู้สึกนั้นจะเป็นด้านบวกหรือด้านลบก็ตาม 
ส่วนในเรื่องสั้น ลั่นทมโรยกลีบ และ กระถางชะเนียงริมหน้าต่าง... การมีชีวิตอยู่กับปัจจุบันโดยไม่ผูกมัดตนเองกับประสบการณ์ของอดีตและหมกมุ่นต่อสิ่งที่จะเป็นไปในอนาคตถูกแสดงออกมาอย่างน่าพินิจพิเคราะห์   
การพูดถึงคนในฐานะแห่งการมีชีวิตที่ดี นับเป็นเรื่องที่ยากที่จะอธิบาย โดยเฉพาะในขณะที่ที่โลกแห่งชีวิต เต็มไปด้วยบริบทที่ซับซ้อนและยากแก่การเข้าใจเหมือนเช่นในปัจจุบัน 
ในเรื่องสั้น กามสุขัลลิกานุโยค และ ละครจริงที่ห้องขาวดำ ภาวะของ ‘คน’ ที่แสดงออกมาถึงความรู้สึกอิสรเสรีที่จะทำอะไรหรือเล่นบทบาทอะไรก็ได้ในชีวิต แต่ความรู้สึกนั้นจะต้องเกิดคู่เคียงกันไปกับความรับผิดชอบ ปรากฏออกมาค่อนข้างชัดเจน 
สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน ถูกนำเสนอสาระเรื่องราวในข้อสงสัยของความเป็นคนและการมีชีวิตที่ดีด้วยตัวอย่างบทบาทของชีวิตที่แสดงโดยตัวละครหลากมิติ ทั้งที่เป็นความสมจริงและทั้งที่เป็นความเหนือจริง... 
บทบาทต่างๆเหมือนถูกผูกโยงตั้งเป็นคำถามและอธิบายนัยความหมายออกมาผ่านการแสดงของชีวิต...ผ่านแง่มุมแห่งความเป็นไปของคนคนหนึ่ง ตลอดจนอาณาจักรแวดล้อมรอบข้างความสมบูรณ์แห่งการอธิบายเรื่องราวให้แจ่มชัด ถูกเน้นย้ำด้วย ‘ข้อคิด...ข้อเขียน’ เชิงบทความที่อธิบายแก่นของสาระอย่างมีรายละเอียด     
ในความเป็นนักเขียน บทความต่างๆ ที่ถูกจัดวางให้เป็นเหมือนบทนำของเรื่องสั้นแต่ละเรื่องอย่าง หน้ากาก สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าสัตว์ การฆ่าตัวตายกับการเป็นเจ้าของตัวเอง ฯลฯ สื่อให้เห็นถึงการเป็นนักเขียนของวินทร์ในลักษณะที่เป็นผู้มีจิตใจในการแสวงหาความรู้ใหม่ๆ (Enquiring Mind)  รวมทั้งการมองปัญหาและข้อเท็จจริงที่เกาะเกี่ยวโยงใยเป็นภาพรวม (Holism) ฐานะของวินทร์ ตรงนี้จึงอยู่ในตำแน่งของผู้ใฝ่รู้และแสวงหาความจริงในคุณค่าของมนุษย์... 
ตรงประเด็นที่ว่า คุณค่าของมนุษย์นั้นจะต้องขึ้นอยู่กับความสามารถในการเพิ่มพูนความรู้      
แต่ถ้าจะมอง ‘รวมเรื่องสั้น’ เล่มนี้ ในสถานะของ ‘วรรณกรรม’ ข้อสงสัยประเด็นแรกที่จะต้องเป็นคำถามก็คือจำเป็นด้วยหรือที่นักเขียนจะต้องอธิบายเรื่องราวในเนื้อหาสาระที่ตนเขียนต่อผู้อ่านอย่างหมดเปลือกเช่นนั้น... 
การเขียนบทความอธิบายความคิด โดยมีตัวอย่างเป็นภาพแสดงในรูปลักษณ์ของเรื่องสั้น อาจทำให้ผู้อ่านมองเห็นภาพได้กระจ่างชัดก็จริง แต่เมื่อแยกส่วนทั้งสองออกจากกัน ... ภาพโดยรวมทั้งหมดกลับถูกกระจัดกระจาย 
ในบทตอนทั้ง 17 บทตอน ความสมดุลระหว่างส่วนทั้งสองส่วน อาจผสมผสานกันได้ดีบ้างอย่าง... สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าสัตว์ กับ หมากลางถนน หรือ ความรุนแรงกับบาป กับ เพชฌฆาต  แต่โดยส่วนใหญ่... ผมกลับมีข้อประจักษ์ว่า ... เรื่องสั้นอย่าง ...  เช็งเม้ง  คำสารภาพของช้างเท้าหลัง  ตุ๊กตา  หรือ โลกสามใบของ ราษฎร์ เอกเทศ  ไม่จำเป็นต้องมีบทกล่าวนำเพราะมีความที่สมบูรณ์เป็นคำอธิบายที่ชัดเจนอยู่ในตัวของมันแล้ว  เช่นเดียวกับบทความเช่น การฆ่าตัวตายกับการเป็นเจ้าของตัวเอง ถ้าผมสามารถเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้อีกครั้งหนึ่ง หรือภาพแสดงเป็นตัวอย่างใดใด เพราะความคิดตรงนั้นก็ชัดเจนและมีพลังอยู่แล้ว 
อย่างไรก็ดี... แม้ผมจะตระหนักว่านี่คือผลงานในเชิงทดลองด้านวรรณกรรมที่ล้ำสมัย... เป็นนวัตกรรมใหม่ที่มองเห็นความตั้งใจของผู้เขียน ที่จะแสดงความรู้ในมิติต่างๆเพื่ออธิบายข้อสงสัยในความเป็นคนไม่ว่าจะเป็นความรู้ทางเทคนิค (Technical Knowledge) อันหมายถึงความรู้เฉพาะด้านเฉพาะอย่าง (Specialization) รวมทั้งความรู้เชิงกลยุทธ์ (Strategic knowledge) ซึ่งหมายถึงการผสมผสานความรู้หลายสาขา เข้าด้วยกันและมีความสัมพันธ์ต่อกัน 
แต่ถึงกระนั้น ผมก็ยังมีความคิดเห็นว่า “วรรณกรรมน่าจะสามารถอธิบายข้อเท็จจริงและเนื้อแท้แห่งสาระด้วยตัวของมันเองได้”
การรวมกันในลักษณะเช่นนี้เป็นผลดีต่อความเป็น ‘หนังสือเล่มหนึ่ง’ ที่มีข้อมูลแห่งการรับรู้ในข้อสงสัยที่ไม่รู้ผ่านการตีความและอธิบายความที่สมบูรณ์ แต่กับการเสพหนังสือเล่มนี้ในมิติของ ‘วรรณกรรม’ ผู้อ่านแทบไม่ต้องใช้ภูมิรู้หรือความเข้าใจส่วนตนจินตนาการกับประเด็นความคิดอันเป็นข้อสงสัยต่างๆเลย ทุกบทตอนเหมือนมี ‘คู่มือ’ ประกอบการทำความเข้าใจไว้เสร็จสรรพ ซึ่งตรงนี้นี่เองที่ทำให้ สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน ตกอยู่ในสภาพของการเป็นหนังสือที่ดี แต่เป็นวรรณกรรมที่ 'ขาดเสน่ห์ด้านการรับรู้' ต่อผู้อ่านไปอย่างน่าเสียดายยิ่ง      แท้จริง...
คนคือสิ่งที่มีความคิด (Thinking being) ...เหตุนี้ การเข้าถึงเนื้อในของความเป็นจริงทั้งหมด...จึงน่าจะปล่อยให้ความคิดของคนทุกคนได้มีใจที่จะค้นหาความรู้ใหม่ๆ โยงใยเป็นภาพรวมด้วยตัวของเขาเองจะดีกว่า

รีวิว


0.0
  • 5
    0%
  • 4
    0%
  • 3
    0%
  • 2
    0%
  • 1
    0%
loading